Home บทความฟุตบอล ความแตกต่างแทคติกส์ “เป๊ป” หลังคุมสามยักษ์ใหญ่…ตอนที่ 1 “บาร์เซโลน่า”

ความแตกต่างแทคติกส์ “เป๊ป” หลังคุมสามยักษ์ใหญ่…ตอนที่ 1 “บาร์เซโลน่า”

0
ความแตกต่างแทคติกส์ “เป๊ป” หลังคุมสามยักษ์ใหญ่…ตอนที่ 1 “บาร์เซโลน่า”

เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ถือว่าเป็นผู้จัดการทีมที่เนื้อหอมที่สุดคนหนึ่งของโลกฟุตบอลในปัจจุบัน ไม่ว่าจะย้ายไปกุมบังเหียนทีมไหนก็สามารถการันตีความสำเร็จได้ทั้งสิ้น แต่เส้นทางในการรับงานคุมทีมของเขาก็ยังคงมีคำครหาจากแฟนบอลอยู่บ้างในเรื่องของระบบการเล่นที่ถูกกล่าวหาว่าเขาเป็น “กุนซือแผนเดียว” วันนี้ทางทีมงาน 168Kick จะทำการชำแหละความแตกต่างของแผนการเล่นว่า สามทีมยักษ์ใหญ่ที่ผ่านมือเทรนเนอร์สมองเพชรรายนี้มีความแตกต่างอย่างไรตรงไหนบ้าง? โดยขอประเดิมจาก บาร์เซโลน่า ที่สร้างชื่อให้กุนซือชาวสเปนก่อนเป็นอันดับแรก

บาร์เซโลน่า : ระบบการเล่น 4-3-3

แผนผังตัวผู้เล่นในฤดูกาล 2009/2010 ของบาร์เซโลน่า

แผนการเล่น 4-3-3 นี้เป็นระบบที่ใช้บ่อยที่สุดในฤดูกาล 2009/2010 โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าขุมกำลังในแผงมิดฟิลด์นั้นแน่นมากๆ ขนาด ยาย่า ตูเร่ ต้องขยับลงมาเป็นมิดฟิลด์ตัวรับ เพื่อเปิดทางให้ ชาบี้ และ อินิเอสต้า สร้างสรรค์เกมบุกได้อย่างเต็มที่ข้างหลังแนวรุกทั้งสามคนอย่าง เมสซี่, ฺอิบราฮิโมวิช และ อองรี ที่ฝีเท้าระดับเวิลด์คลาสทุกคน ส่วนแผงหลังประกอบไปด้วยแบ็คขวาจอมบุกอย่าง ดานี่ อัลเวส แบ็คซ้ายวินัยสูง เอริก อบิดัล ยืนร่วมกับคู่เซนเตอร์ดีกรีทีมชาติสเปน การ์เลส ปูโยล และ เคราร์ด ปิเก้ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเหนียวแน่น เรียกได้ว่าเป็นทีมที่มีความสมดุลย์เอามากๆ ที่ต่อให้ไม่มีกองกลางตัวตัดเกมพันธุ์แท้ก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะแทบจะเป็นฝ่ายครองเกมบุกอยู่ฝ่ายเดียวอยู่แล้ว

การเซตตำแหน่งขึ้นเกม

จังหวะที่ต้องขึ้นเกมจากหน้าปากประตูตัวเองนั้นกองหลังตัวกลางทั้งสองคนอย่าง ปิเก้ และ ปูโยล จะถ่างออกไปเป็นทางเลือกด้านข้างในการจ่ายบอลซ้าย-ขวา ส่วนทางด้าน ตูเร่ จะขยับลงมาแทนตำแหน่งเซนเตอร์ตัวกลางเพื่อรอรับบอลสั้นขึ้นเกม ซึ่งหากผู้เล่นฝั่งตรงข้ามขึ้นมาวิ่งกดดันตรงแดนบนก็มีอีกสองทางเลือกให้ผู้รักษาประตู คือ โยนไปตรงพื้นที่กลางสนามที่มี ชาบี้ กับ อินิเอสต้า รอรับบอลอยู่ และ โยนยาวไปแดนหน้าให้กับกองหน้าทั้งสามคนที่ยืนค้ำสูงไม่ว่าจะเป็น อิบราฮิโมวิช, เมสซี่ หรือ อองรี ก็ได้ทั้งนั้น

การเคลื่อนบอลทำเกมบุก

รูปแบบการขึงเกมบุกของเจ้าบุญทุ่มในยุคนั้นหัวใจสำคัญอยู่ที่ตำแหน่งของ ตูเร่ และแบ็คทั้งสองข้าง ยิ่งเฉพาะในตำแหน่งของอัลเวส ที่ดันขึ้นไปเล่นเกมรุกได้อย่างอิสระ…การบุกจะเริ่มต้นขึ้นจากการที่ ตูเร่ มารับบอลมองหาทางเลือกในการจ่ายต่อไป อิบราฮิโมวิช ที่รับหน้าที่เป็นหน้าเป้าจะถอยลงมาเล่นเป็นบทบาท False9 หรือกองหน้าตัวเชื่อมเกมตรงเกือบกลางสนาม ปล่อยให้ เมสซี่ ที่ยืนริมเส้นด้านขวาขยับเข้ามาเป็นกองหน้าตัวเป้าแทน และ อัลเวสดันสูงขึ้นไปรับผิดชอบพื้นที่บุกทางริมเส้นฝั่งขวา…จากรูปแบบนี้จะเห็นได้ว่า ตูเร่ มีทางเลือกในการจ่ายบอลตรงกลางสนามระยะสั้นถึงสามทางเลือก คือ อินิเอสต้า, อิบราฮิโมวิช และ ชาบี้ ไม่นับตัวรุกสามตัวด้านบน…ต่อให้ฝั่งตรงข้ามใช้กองหน้าสองคนวิ่งมากดดัน ตูเร่ ก็สามารถขยับตัวเองลงไปต่ำแทรกกลางระหว่าง ปิเก้ กับ ปูโยล โดยเปิดพื้นที่ในแดนกลางได้เล่นแบบอิสระได้มากขึ้นอีกด้วย

การเคลื่อนที่เข้าทำประตู

หัวใจการเคลื่อนที่เข้าทำประตูในระบบนี้ที่เห็นบ่อยๆ คือการใช้ อิบราฮิโมวิช ลงมาเป็นตัวจ่ายบอลเข้าพื้นที่สุดท้าย เน้นเคลื่อนบอลจากตรงกลาง อองรี กับ อัลเวส ที่ยืนชิดริมเส้นสองข้างช่วยถ่างโซนแนวรับให้ออกไปประกบตัวเปิดพื้นที่ว่างมากขึ้น และคอยวิ่งแลบแบบโอเวอร์แลปขึ้นไปรับบอล

ทางเลือกในการทำประตู

ทางเลือกแรก อองรี หรือ อัลเวส ที่รับบอลจากจังหวะแลบขึ้นไปสามาารถทำประตูด้วยการยิงเอง

ทางเลือกที่สอง อองรี หรือ อัลเวส สามารถจ่ายให้กับ เมสซี่ ที่เติมขึ้นมาเป็นกองหน้าตัวเป้าคอยจบทำประตู หรืออาจจ่ายย้อนมาให้กับ อิบราฮิโมวิช ที่เติมขึ้นมาตรงกรอบ 18 หลาก็ได้เช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่าแถวสองจะมี ชาบี้ กับ อินิเอสต้า คอยเก็บตกอยู่ตรงนอกกรอบเขตโทษ…ส่วนทาง ตูเร่ คอยรอเก็บจังหวะเคลียร์บอลออกมาในระยะไกลสำหรับการบุกระลอกต่อๆ ไป

การโจมตีแบบฉวยโอกาส

การโจมตีแบบรวดเร็วโดยใช้ เมสซี่ เป็นตัวหลอกเป็นอีกหนึ่งทางในการทำประตูที่ฉวยโอกาสทำได้บ่อยครั้ง…โดยการเข้าทำแบบนี้ ตูเร่ จะเป็นตัวคุมจังหวะครองบอลตรงกลางสนาม ทางด้าน เมสซี่ กับ อัลเวส จะฉีกตัวออกไปริมเส้นเพื่อรอรับบอลทางฝั่งขวาทำให้แนวรับจะเทไปประกบฝั่งนั้นเกือบหมด…เมื่อทาง เมสซี่ กับ อัลเวส ครองบอลทางริมเส้นรอให้ฝั่งตรงข้ามเข้ามารุมแย่ง ทั้งสองคนจะรีบถ่ายบอลกลับมาให้ ชาบี้ ที่รอรับบอลเพื่อจะตักบอลคิลเลอร์พาสให้กับ อิบราฮิโมวิช หรือ อองรี ที่เตรียมเข้าจบสกอร์ หรือ ไม่ก็จ่ายต่อให้ อินิเอสต้า หาจังหวะทะลุขึ้นไปทำประตูเองไม่ก็จ่ายให้ศูนย์หน้าต่อไป จะเห็นได้ชัดว่า อบิดัล ที่ยืนในตำแหน่งแบ็คซ้ายจะไม่เติมสูง แล้วหุบเข้ามาเป็นเซนเตอร์ฝั่งซ้ายแทนเพื่อรอตั้งรับหากฝั่งตรงข้ามสวนกลับในระบบเซ็นเตอร์สามตัว

เกมรับที่ดีที่สุดคือการครองบอล

บาร์เซโลน่า ในยุคนั้นต้องยอมรับกันตามจริงว่าแทบไม่เคยโดนใครบุกใส่แบบเห็นกันจะๆ เลย เพราะโดดเด่นในเรื่องของการครองบอล ที่เปรียบเสมือนเป็นการตั้งรับไปในตัว…หากบุกไม่ขึ้น เจ้าบุญทุ่ม ก็จะเน้นการถ่ายบอลไปมาไม่ได้ไม่เสียรอจังหวะอย่างเลือดเย็น แนวรับแดนหลังจะทิ้งกองหลังยืนในระบบเซนเตอร์สามคน อบิดัล, ปิเก้ และ ปูโยล ตัวคอยตัดบอลก่อนถึงกองหลังหนึ่งด่านเป็น ตูเร่ ซึ่งถ้าทีมได้ครองบอลบุกอยู่จะมีตัวเลือกในแดนกลางตรงกลางสนามให้ถ่ายบอลชิ่งไปมาถึงสี่ตัวประกอบไปด้วย ตูเร่, ชาบี้, อินิเอสต้า และ อิบราฮิโมวิช ที่ถอยต่ำลงมาเชื่อมเกม…นอกจากนี้ อินิเอสต้า กับ ชาบี้ จะสลับบทบาทเป็นตัวฟรีคอยวิ่งเชื่อมจังหวะบอลสั้นๆ เพื่อเปลี่ยนจังหวะเกมอยู่ตลอดอีกด้วย แล้วเนื่องมาจากการมีมิดฟิลด์ที่เทคนิคยอดเยี่ยมคอยคุมเกมทำให้ฝั่งตรงข้ามน้อยทีมนักที่จะแย่งบอลกลับคืนมาได้โดยง่าย…เราจะเห็นว่า บาร์ซ่า ในยุคของ เป๊ป มีสถิติหลังจบเกมด้วยการครองบอลเหนือกว่าทีมคู่แข้งแบบขาดลอยอยู่เสมอ

อ่านตอนต่อไปได้ที่นี่ครับ : ความแตกต่างแทคติกส์ “เป๊ป” หลังคุมสามยักษ์ใหญ่…ตอนที่ 2 “บาเยิร์น มิวนิค”


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : Youtube ช่อง Football Made Simple

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้