Home บทความฟุตบอล โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรในฝันของแข้งดาวรุ่ง

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรในฝันของแข้งดาวรุ่ง

0
โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรในฝันของแข้งดาวรุ่ง

จูด เบลลิงแฮม กองกลางดาวรุ่งชาวอังกฤษ ของ เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ทีมดังในศึกเดอะ แชมเปี้ยนชิพ ตัดสินใจย้ายไปร่วมทีม โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในศึกบุนเดสลีกา เยอรมัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยค่าตัว 25 ล้านปอนด์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา มันน่าสนใจที่ทำไมเขาปฏิเสธทีมอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด, บาเยิร์น มิวนิค หรือ เชลซี และเดินตามรอยรุ่นพี่ร่วมชาติอย่าง จาดอน ซานโช่ ไปเล่นกับ “เสือเหลือง”

เซอร์ แมตต์ บัสบี้ ตำนานกุนซือ แมนฯยูไนเต็ด เคยกล่าวถึงนักเตะดาวรุ่งว่า “ ถ้าพวกเขาดีพอพวกเขาก็แก่พอที่จงลงเล่น” คำพูดนี้มันยังคงตามหลอกหลอน เอ็ด วู้ดเวิร์ด รองประธานบริหาร “ปีศาจแดง” และทีมงานสรรหานักเตะหลังจากที่พลาดตัว เบลลิงแฮม ไปอย่างน่าเสียดาย

ย้อนกลับไปในตลาดนักเตะเดือนมกราคมที่ผ่านมา เออร์ลิง เบราต์ ฮาแลนด์ กองหน้าดาวรุ่งทีมชาตินอร์เวย์ อีกหนึ่งเป้าหมายลำดับต้นๆของ แมนฯยูไนเต็ด ก็เลือกย้ายจาก เร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก ไปเล่นกับ ดอร์ทมุนด์ ด้วยค่าตัว 18 ล้านปอนด์ และทำผลงานให้กับ “เสือเหลือง” ได้อย่างสุดยอดด้วยการซัดไปถึง 16 ประตู จาก 18 เกมรวมทุกรายการ

Photo : skysports.com

ใครคือคนที่ ดอร์ทมุนด์ ต้องการเซ็นสัญญาด้วย โดยเริ่มแรกพวกเขาจะมองหาฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลก อายุระหว่าง 16-19 ปี และเซ็นสัญญานักเตะเหล่านั้นมาร่วมทีม ยกตัวอย่างกรณีของ ซานโช่ และ เบลลิงแฮม ที่ทีมอย่าง บาเยิร์น, บาร์เซโลนา และ แอร์เบ ไลป์ซิก มองไม่เห็นพรสวรรค์ของพวกเขา เนื่องจากสโมสรเหล่านั้นไม่มีทีมแมวมองในอังกฤษเลยแม้แต่คนเดียว  

 เจสโก้ วอน อิชมันน์ ผู้สื่อข่าวที่ติดตาม ดอร์ทมุนด์ มาอย่างยาวนาน อธิบายว่า “ดอร์ทมุนด์ ติดตามดูฟอร์มนักเตะดาวรุ่งที่มีพรสวรรค์จากทุกสโมสรใหญ่ทั่วยุโรป ยกตัวอย่าง ซานโช่ ที่ย้ายมาจาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แดน-อักเซล ซากาดู ที่มาจาก ปารีส แซงต์ แชร์กแมง, มาเตอู มอเรย์ และ เซอร์จิโอ โกเมซ จาก บาร์เซโลน่า”

“เมื่อผู้เล่นดาวรุ่งเหล่านี้ตระหนักดีว่า ดอร์ทมุนด์ มีความไว้วางใจในตัวพวกเขามากกว่าสโมสรปัจจุบันของพวกเขาแล้ว พวกเขาก็ยินดีที่จะทำการเปลี่ยนแปลงเส้นทางอาชีพของตัวเอง ดอร์ทมุนด์ เสนอแนวทางแก่พวกเขาในการพัฒนาบนสนามไม่ใช่บนม้านั่งสำรอง”

ขณะเดียวกัน ดอร์ทมุนด์  สามารถเอาชนะคู่แข่งทีมอื่นๆในการคว้าตัวนักเตะอย่าง ฮาแลนด์, ซานโช่ และ โจวานนี่ เรย์น่า มิดฟิลด์ดาวรุ่งชาวสหรัฐอเมริกา มาร่วมทีมได้สำเร็จ และน่าสนใจว่า “เสือเหลือง” ใช้สิ่งใดดึงดูดผู้เล่นเหล่านั้น

Photo : beinsports.com

ดอร์ทมุนด์ เป็นเมืองที่ผู้คนคลั่งไคล้ฟุตบอลอย่างหนัก โดย เวสต์ฟาเล่น สตาดิโอน สนามเหย้าของพวกเขาเต็มไปด้วยแฟนบอลที่รู้จักกันในนามกำแพงสีเหลือง หรือ “YELLOW WALL” อันเลื่องลือ นอกจากนี้ “เสือเหลือง” ยังมีชื่อเสียงในการพัฒนาความสามารถของเยาวชนมาอย่างยาวนาน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมามันช่วยสร้างแรงดึงดูดได้เป็นอย่างดี

ดอร์ทมุนด์ มีแนวทางที่แตกต่างจากคู่แข่งทีมอื่นๆอย่างชัดเจน พวกเขารับประกันเวลาลงสนามให้กับนักเตะดาวรุ่งได้ และสามารถให้นักเตะอายุน้อยเหล่านั้น ลงเล่นในเกมลีกได้อย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับให้โอกาสลงเล่นในศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก อีกด้วย ซึ่งมันเป็นสิ่งที่สโมสรใหญ่อย่าง บาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริด ไม่สามารถทำได้ 

อิชมันน์ เล่าต่อว่า “ปกติแล้วผู้เล่นใหม่ที่มีศักยภาพจะได้ลงเล่นในสนาม เวสต์ฟาเล่น สตาดิโอน ทันทีเพื่อให้พวกเขารู้สึกได้ถึงความหมายที่แท้จริงของฟุตบอลในสนามแห่งนี้”

พอล แลมเบิร์ต อดีตกองกลางทีมชาติสก็อตแลนด์ ซึ่งเคยคว้าถ้วยยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ร่วมกับ ดอร์ทมุนด์ เมื่อปี 1997 กล่าวว่า “แฟน ๆ และสนามเหย้าแห่งนี้มันเป็นแรงกระตุ้นที่สุดยอดสำหรับผม แฟนบอล ดอร์ทมุนด์ น่าเหลือเชื่อมาก และมันทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งในสโมสรที่ดีที่สุดในโลก”

“ทุกคนรู้จักกำแพงสีเหลือง พวกเขามีชื่อโด่งดังเสียงไปทั่วโลก และเมื่อคุณได้ลงเล่นในสนามแห่งนี้ ผมบอกได้เลยว่า มันเป็นสถานที่พิเศษมากๆ ผมกลับไปที่นั่นหลังจากแขวนสตั๊ดไปแล้ว และยืนอยู่บนอัฒจันทร์กับกับแฟน ๆ มันยังคงเป็นบรรยากาศที่สุดยอด ผมดีใจที่ตัวเองเคยได้เล่นต่อหน้าพวกเขา และผมดีใจที่ได้กลับไปยืนตรงนั้นอีกครั้ง และเมื่อมีโอกาสผมจะกลับไป เพราะมันเป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยมจริงๆ”

ดอร์ทมุนด์ ใช้จุดขายที่ไม่เหมือนใครในการสรรหาผู้เล่น และมันไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน ซึ่งสำหรับสโมสรส่วนใหญ่จะใช้การประชุมประจำสัปดาห์เกี่ยวกับเป้าหมายของพวกเขา และจะแสดงลำดับนักเตะที่ต้องการในตำแหน่งที่กำลังมองหา แต่ “เสือเหลือง” แตกต่างออกไป

Photo : skysports.com

ดอร์ทมุนด์ จำแนกผู้เล่นแบบเป็นสัดส่วนชัดเจน พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องเวลา และพลังงานในตัวนักเตะคนนั้น พวกเขาไม่มีตัวเลือกที่ 2-3 แต่พวกเขาจะทำให้แน่ใจว่า เป้าหมายอันดับ 1 นั้น รู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางของสโมสรก่อนที่จะเซ็นสัญญากัน

หากเป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ ภายใน 3 ปี เบลลิงแฮม อาจจะลงเล่นในลีกให้กับ ดอร์ทมุนด์ ไปมากกว่า 100 เกม ยิง 30 ประตู และได้ลงเล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มากกว่า 20 เกม ซึ่งดาวเตะชาวอังกฤษอาจได้รับการบันทึกสถิติว่า เป็นผู้เล่นที่ได้ลงสนามมากที่สุดในวัยเพียง 20 ปี และในอนาคตเขาอาจจะย้ายไปยัง บาร์เซโลน่า, มาดริด, แมนฯยูไนเต็ด หรือ ลิเวอร์พูล

ในกรณีของ ฮาแลนด์ เขาย้ายมาเล่นกับ ดอร์ทมุนด์ ด้วยค่าตัว 18 ล้านปอนด์ เชื่อได้ว่า ในอนาคตหากดาวยิงชาวนอร์เวย์ ตัดสินใจย้ายออกจากสโมสรอีกครั้ง เขาคงทำกำไรให้กับ “เสือเหลือง” ได้อย่างมหาศาล

อีกหนึ่งกรณีคือ โจวานนี่ เรย์น่า มิดฟิลด์วัย 17 ปี ที่ปฏิเสธความสนใจจาก แมนฯ ซิตี้ และเลือกย้ายจาก นิวยอร์ก ซิตี้ เอฟซี ในบ้านเกิดมาเล่นกับ ดอร์ทมุนด์ ถึงแม้ เคลาดิโอ เรย์น่า คุณพ่อของเขาเป็นอดีตนักเตะ “เรือใบสีฟ้า” ก็ตาม

โทบี้ โจห์เรน ผู้สื่อข่าวที่ติดตาม ดอร์ทมุนด์ อธิบายถึงการย้ายทีมของ เบลลิงแฮม ว่า “เขาจะต้องใช้เวลาสักหน่อยเพื่อทำความคุ้นเคยกับสถานที่ใหม่ และการรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ คุณอาจเปรียบเทียบเขากับ โจวานนี่ เรย์น่า ที่มาถึงเมื่อซัมเมอร์ปีที่แล้ว เขาใช้เวลา 6 เดือนกับ U19s และค่อยๆได้สัมผัสประสบการณ์กับทีมชุดแรก จากนั้น เขาก็เข้ามาสู่ทีมเต็มตัวในช่วงฤดูหนาว และตอนนี้เขามีความสำคัญกับทีมไปแล้ว”

“คุณควรให้เวลากับ จูด เบลลิงแฮม สักหน่อย และอย่าคาดหวังสิ่งต่างๆจากเขามากนัก แต่ ดอร์ทมุนด์ เชื่อมั่นว่า เขาจะช่วยทีมได้ เพราะไม่อย่างนั้น พวกเขาไม่ยอมจ่ายเงิน 25 ล้านปอนด์แน่นอน บางทีเขาอาจใช้เวลาปรับตัว 6 เดือนกว่าจะเข้าสู่ทีมชุดแรก และเราจะดูว่า เขาจะใช้เวลานานแค่ไหนสำหรับการเป็นส่วนสำคัญของทีม”

Photo : fourfourtwo.com

นโยบายการสร้างนักเตะเยาวชนเป็นเรื่องแรกที่ ดอร์ทมุนด์ ให้ความสำคัญหลังจากล้มละลายเมื่อปี 2005 โดยพลพรรค “เสือเหลือง” ใช้เวลาหลายฤดูกาลกว่าจะทำกำไร และสร้างระบบเพื่อดึงดูด และส่งเสริมผู้เล่นดาวรุ่งฝีเท้าดี

นับตั้งแต่นั้นมา ดอร์ทมุนด์ ทำกำไรมหาศาลจากการปั้น และขายนักเตะอย่าง ชินจิคา กาวะ, อิลคาย กุนโดกัน, ปิแอร์ – เอเมอริค โอบาเมยอง, อุสมาน เดมเบเล่ และ คริสเตียน พูลิซิช แถมพวกเขายังคว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ 2 สมัย ติดต่อกันในปี 2011 และ 2012

ในขณะที่สโมสรอื่น ๆ พยายามที่จะทำกลยุทธ์ในเชิงธุรกิจแบบเดิมซ้ำๆ แต่ ดอร์ทมุนด์ ถูกบังคับให้ต้องสรรหานักเตะอายุน้อยเข้าสู่ทีม ซึ่งพวกเขาใช้เงินไป 17 ล้านปอนด์ ในการพัฒนาสนามซ้อม และพัฒนาทีมบุคลากรสรรหานักเตะเพื่อช่วยรับประกันความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของสโมสรในตลาดที่วุ่นวาย

ไม่มีใครที่เข้าใจ DNA ของ ดอร์ทมุนด์ ได้ดีกว่า มิชาเอล ซอร์ค ผอ.กีฬาของสโมสร ซึ่งเป็นอดีตนักเตะของทีมที่ลงเล่นไปมากถึง 463 เกม และปัจจุบันเขามีหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานระหว่างเทรนเนอร์ ลูเซียง ฟาฟร์ กับ ฮันส์-โยอาคิม วัตซ์เค ซีอีโอ “เสือเหลือง”

Photo : thesun.ie

ภายใต้การบริหารงานที่ยอดเยี่ยมของ ซอร์ค นั้น ดอร์ทมุนด์ ประสบความสำเร็จด้วยการคว้าแชมป์บุนเดสลีกา 3 สมัย, แชม์เดเอฟเบ โพคาล 2 สมัย และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก อีก 2 ครั้ง

ขณะเดียวกัน มาร์คัส พิลาว่า หัวหน้าทีมแมวมอง ดอร์ทมุนด์ ซึ่งย้ายจาก โบคุ่ม มาทำงานในสโมสรเมื่อปี 2012 ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่เป็นคนคอยประสานงานกับแมวมองคนอื่นๆของ “เสือเหลือง” ที่มีอยู่มากมายเพื่อค้นหาดาวรุ่งพรสวรรค์ระดับโลกเข้าสู่ทีม

อิชมันน์ เล่าว่า “เดือนธันวาคมปี 2017 ดอร์ทมุนด์ ต้องเสีย สเวน มิลินสตัด หัวหน้าทีมแมวมองไปให้กับ อาร์เซน่อล ซึ่ง มิลินสตัด ถูกมองว่าเป็นคนค้นพบ ซานโช่ และ เดมเบเล่ แต่ที่จริงแล้วทีมงานของ มาร์คัส พิลาว่า ทำให้ มิลินสตัด ประสบความสำเร็จ”

นอกจากดาวรุ่งแล้ว พิลาว่า ยังเป็นคนแนะนำให้  ดอร์ทมุนด์ ดึงตัวนักเตะซีเนียร์อย่าง เอมเร่ ชาน, มัตส์ ฮุมเมลส์, ยูเลี่ยน บรันท์ และ ธอร์กาน อาซาร์ เข้ามาเสริมมทัพเพื่อสร้างความสมดุลให้กับทีมในการไล่ล่าความสำเร็จในอนาคต

ทุกวันนี้สโมสรหลายๆแห่งกำลังใช้ ดอร์ทมุนด์ เป็นโมเดลในการทำธุรกิจ ในขณะที่ “เสือเหลือง” ยังคงเดินหน้าพัฒนาแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไปต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยหากทุกคนมองว่า พวกเขาเป็นสุดยอดทีมที่ผลิตดาวรุ่งชั้นดีมาประดับวงการฟุตบอลในยุคปัจจุบัน และเป็นสโมสรในฝันของบรรดานักเตะอายุน้อยทั้งหลาย

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้