Home บทความฟุตบอล มอนชี่ ยอดนักปั้นมือทองแห่งโลกลูกหนัง

มอนชี่ ยอดนักปั้นมือทองแห่งโลกลูกหนัง

0
มอนชี่ ยอดนักปั้นมือทองแห่งโลกลูกหนัง

รามอน โรดริเกซ เบร์เดโฆ อยู่ในวงการฟุตบอลมากว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งเชื่อได้ว่าแฟนลูกหนังหลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้มาก่อน แต่ทางกลับกันหากพูดถึงชื่อ “มอนชี่” เชื่อว่า มีหลายคนที่รู้จักเขาเป็นอย่างดีในฐานะสุดยอดผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาของบรรดาสโมสรชั้นนำในยุโรปอย่าง เซบีย่า และ โรม่า

สมัยค้าแข้ง มอนชี่ เป็นแค่นายทวารมือ 2 ของ เซบีย่า เท่านั้น และอยู่ในถิ่นรามอน ซานเชซ ปิซฆวน นานถึง 11 ปี โดยลงเล่นไป 126 เกม ก่อนจะแขวนถุงมือเมื่อปี 1999 และผันตัวเองไปทำงานเบื้องหลังให้กับสโมสร

ในเวลานั้น เซบีย่า อยู่ในดิวิชั่น 2 ของสเปน และ มอนชี่ ก็ทำงานพร้อมกับศึกษากลุยุทธ์การดำเนินงานของสโมสรอื่นทั่วยุโรปที่เขาสนใจอย่าง เอฟซี ปอร์โต้ และ โอลิมปิก ลียง ซึ่งเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์, ปั้นผู้เล่นขายทำกำไรมหาศาล และมองหานักเตะมากพรสวรรค์มาร่วมทีม

Photo : goal.com

หลักการสำคัญที่ มอนชี่ ยึดถือคือ การยอมรับการสูญเสียผู้เล่นที่ดีที่สุดของตัวเองออกไป แต่ต้องทำให้แน่ใจว่า คุณแทนที่พวกเขาด้วยคนที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันในราคาที่ต่ำกว่าเพื่อสร้างผลประกอบการที่ดีให้กับสโมสร

อย่างไรก็ตาม เซบีย่า ไม่ได้เงินเลยแม้แต่บาทเดียวในช่วง 2 ปีแรกที่ มอนชี่ ทำงาน แต่พวกเขาก็สามารถเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในศึกลาลีกา สเปน ได้สำเร็จภายใต้การคุมทีมของเทรนเนอร์ โจอาคิน กาปาร์รอส ซึ่งปัจจุบันคุมทีมชาติอาร์เมเนีย

จนกระทั่งฤดูกาลถัดมาในปี 2002 มอนชี่ ได้รับไฟเขียวจาก เซบีย่า ให้ลงทุนครั้งแรกจำนวน 500,000 ยูโร ด้วยการยืมตัวตัว ดานี อัลเวส ฟูลแบ็กชาวบราซิล มาจาก บาเฮีย ก่อนจะซื้อขาด และอีก 6 ปีต่อมาก็ขายต่อให้กับ บาร์เซโลน่า ซื้ค่าตัวถึง 23 ล้านยูโร นั่นคือ ดีลที่สร้างชื่อให้กับ มอนชี่ อย่างมาก

เซบีย่า อยู่ในลาลีกามา 20 ฤดูกาลติดต่อกันแล้ว และพวกเขายังคงมีความสุขกับปรัชญาของ มอนชี่ โดย เซบีย่า มีความมั่นคงทางสถานะการเงิน และมีถ้วยรางวัลมาประดับตู้โชว์สโมสร แม้จะไม่ได้เป็นปลายทางของบรรดานักเตะซุเปอร์สตาร์ก็ตาม

Photo : junipersports.com

เซบีย่า คว้าแชมป์โคปา เดย์ เลย์ 2007 และ 2010, ยูฟ่า คัพ ปี 2006 และ 2007, ยูโรป้า ลีก ปี 2014, 2015, 2016 และ 2020 โดย มอนชี่ อำลาสโมรไปทำงานกับ โรม่า 2 ปี ในระหว่างปี 2017-2019 และกลับมายังถิ่น รามอน ซานเชซ ปิซฆวน อีกครั้งเมื่อปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

มอนชี่ ซึ่งทำกำไรให้กับ เซบีย่า ไปถึง 180 ล้านยูโรจากการขายนักเตะเริ่มกล่าวว่า “ความจริงก็คือ ตอนนี้มันเป็นช่วงเวลาที่วุ่นวายมากจากโคโรน่าไวรัส เพราะเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน และต้องจัดการปัญหาที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของผู้อำนวยการกีฬาอย่างผม”

“การเจรจามีความซับซ้อนขึ้นเล็กน้อย เราต้องพึ่งพางานที่เราทำไปแล้วก่อนที่จะออกจากช่วงล็อคดาวน์ ตอนนี้เรามอบหมายงานใหม่ให้กับแมวมอง ซึ่งพวกเขาต้องไปตรวจสอบผู้เล่นที่เราสนใจมาสักพักหนึ่งซ้ำแล้วซ้ำอีก และเรายังวางแผนการเซ็นสัญญาที่แตกต่างออกไปโดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคต”

เมื่อซัมเมอร์ที่ผ่านมา มอนชี่ ทำธุรกิจที่ชาญฉลาดอีกครั้งหลังคว้าตัว อิวาน ราคิคิช มิดฟิลด์ทีมชาติโครเอเชีย กลับมาจาก บาร์เซโลน่า ด้วยราคาเพียง 1.5 ล้านยูโร โดยปี 2011 เซบีย่า คว้าตัวดาวเตะวัย 32 ปี มาจาก ชาลเก้ ในราคา 2.5 ล้านยูโร ก่อนจะปล่อยให้ บารซ่า ในปี 2014 ได้ถึง 20 ล้านยูโร

Photo : sportsfinding.com

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ก็ทำให้แนวทางการทำงานของ มอนชี่ เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และ เซบีย่า ได้เปลี่ยนโครงสร้างทีมงานแมวมองของสโมสรไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2019 ด้วยการเพิ่มแผนกวิจัย และพัฒนาข้อมูลนักเตะ

ขณะเดียวกัน กระบวนการแมวมองในวงการฟุตบอล ณ ปัจจุบัน มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีการใช้ข้อมูลรูปแบบใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้ที่ทำงานในด้านต่างๆเหล่านี้อาจไม่เคยมีพื้นฐานด้านฟุตบอลมาก่อน แต่ก็ไม่สำคัญตราบเท่าที่มีผลงานโดดเด่น

มอนชี่ กล่าวต่อว่า “เราเปรียบเทียบมุมมองสำหรับแมวมองของเรารวมกับข้อมูลต่างๆ และใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณาด้วยกันอยู่เสมอเพื่อให้เราตัดสินใจได้ดีที่สุด เรามีข้อมูลขนาดใหญ่มากกว่าเดิม เพราแผนกข้อมูลของเราได้รับการพัฒนามากขึ้น”

“แม้ว่า โปรเจกต์ของเราจะยังไม่สมบูรณ์ 100% แต่มันก็ช่วยเราได้มากขึ้นในการวิเคราะห์ผู้เล่นที่น่าสนใจ ก่อนหน้านี้ข้อมูลของเราอาจไม่แม่นยำนัก แต่ปัจจุบันเรามีข้อมูลเล็กๆน้อยๆรายงานเสริมเข้ามา อาทิ ผู้เล่นคนนี้ถนัดเท้าซ้าย หรือขวา”

“เห็นได้ชัดว่าตอนนี้เราประมวลผลข้อมูลได้ดีขึ้น มีข้อมูลมากขึ้น และเราเต็มใจที่จะพึ่งพามันมากขึ้น มันทำให้เรามีความมั่นใจที่จะใช้งานข้อมูลเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถมองข้ามมุมมองส่วนตัวของแมวมองได้ และสิ่งที่เราต้องทำคือ การนำสิ่งเหล่านั้นมาวิเคราะห์ด้วยกัน”

Photo : en.as.com

การสร้างระบบที่สามารถค้นหาผู้เล่นที่เหมาะสมในราคาที่เหมาะสมยังคงเป็นสิ่งสำคัญ มอนชี่ และทีมงานของเขามีข้อมูลนักเตะในมือกว่า 18,000 คน ที่สามารถเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับ เซบีย่า ได้ในอนาคต 

ผอ.กีฬา เซบีย่า เล่าต่อว่า “ตอนนี้เรากำลังพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆที่ไม่มีประสบการณ์ด้านฟุตบอลมาร่วมงานกับเรา เรากำลังต่อสู้กับสถานการณ์ในปัจจุบัน เราต้องการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากคุณตัดสินใจที่จะสร้างแผนกวิจัย และพัฒนา คุณต้องจัดหาผู้ที่จะเพิ่มมูลค่าสโมสรโดยการทำความเข้าใจข้อมูลจากมุมต่างๆ”

มอนชี่ ประสบความสำเร็จอย่างมากมายที่ เซบีย่า ทำให้มีสโมสรฟุตบอลหลายแห่งทั่วยุโรปจึงพยายามทำตามแบบอย่างของพวกเขา อาทิ เบนฟิก้า, สปอร์ติ้ง ลิสบอน, โมนาโก และ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม

ในฤดูกาลนี้ เซบีย่า ยังทำผลงานได้น่าประทับใจด้วยการรั้งอันดับ 6 ในตารางคะแนนลาลีกา และสามารถเข้าไปสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้สำเร็จทั้งที่พวกเขาอยู่ร่วมกลุ่มกับทีมที่แข็งแกร่ง และเสริมทัพไปมากกว่า 200 ล้านปอนด์เมื่อซัมเมอร์ที่ผ่านมา อย่าง เชลซี

มอนชี่ กล่าวว่า “ผมเชื่อว่า ทีมงานเบื้องหลังของ เชลซี ตระหนักดีถึงสถานะทางการเงิน และความสามารถในการหารายได้ของพวกเขา ผมเชื่อว่า พวกเขาคิดแบบนั้น ถ้าคุณลงทุนเยอะ เพราะงบประมาณของคุณเอื้ออำนวย มันก็ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ”

“ในช่วงที่ผ่านมา เชลซี ใช้เงินไม่เยอะเพราะถูกแบนจากการซื้อนักเตะ แต่ตอนนี้พวกเขาทำธุรกิจที่ดีมาก ๆ พวกเขาได้ผู้เล่นอายุน้อยที่มีพรสวรรค์ และหากนักเตะเหล่านี้ทำผลงานได้ดี พวกเขาจะได้กำไรทั้งใน และนอกสนาม”

Photo : strikerless.com

ขณะเดียวกัน มอนชี่ ไม่เคยซ่อนความหลงใหลในฟุตบอลอังกฤษ โดยในปี 2013 เขาเคยใช้เวลา 6 เดือนในลอนดอนเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษ และทำงานวิจัยบางอย่าง โดยระบุว่า “ผมกำลังหาข้อมูลทางธุรกิจ สโมสรในพรีเมียร์ลีกมีรูปแบบธุรกิจที่ยอดดเยี่ยม และผมต้องการนำไปใช้ที่ เซบีย่า”

“พวกเขาสามารถสร้างผลกำไรให้กับฟุตบอลได้อย่างแท้จริงผ่านทางโทรทัศน์ และการตลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ฟุตบอลอังกฤษมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของสเปนในเวลานั้น”

เวลานี้หลายสโมสรในอังกฤษอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล, ลีดส์ ยูไนเต็ด และ อาร์เซน่อล ต่างมีผู้อำนวยการด้านกีฬา ในขณะที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรหนึ่งที่ไม่มีผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว

มอนชี่ กล่าวว่า “มีสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากมายที่มอบนโยบายการสรรหาบุคลากรให้กับบุคคลต่างๆไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการทั่วไป โค้ช หรือผู้อำนวยการกีฬา ผมชอบตัวเลือกสุดท้ายมากกว่า เพราะมันมีความสมดุลที่สุด”

“มันไม่ได้หมายความว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่มีทีมแมวมอง แน่นอน พวกเขามี แต่พวกเขาไม่มีคนอย่าง ซิกี เบกิริสไตน์ ที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือ ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ที่ ลิเวอร์พูล แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่า แมนฯ ยูไนเต็ด มีผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการตัดสินใจที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด เรากำลังพูดถึงสโมสรชั้นนำ ผมไม่มีอะไรจะสอนพวกเขาเลยแม้แต่น้อย”

Photo : football.london

หลังจากใช้เวลาในวงการยาวนานมา 20 ปี มอนชี่ ผ่านความกดดันมาอย่างมากมาย แต่เขายังมีความสุขกับการทำงาน และยังรู้สึกว่ามีอะไรให้ทำมากมาย โดยระบุว่า “ผมเป็นหนี้ครอบครัว เพื่อน และตัวเองด้วย ผมต้องให้เวลานั้นคืนกับพวกเขาบ้าง รวมทั้งผมเองด้วย นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมผมจะไม่อยู่ที่นี่นาน”

“ผมรู้จักภรรยาของมาตั้งแต่เราอายุ 15 ลูก ๆ ของผมอายุ 27 และ 21 ปี พวกเขาถูกเลี้ยงดูมาในสถานการณ์เหล่านี้ ผมให้ความสำคัญกับสโมสรมากจนยอมเสียสละความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว แต่ผมคิดว่าตัวเองมีสิทธิพิเศษ เพราะได้ทำในสิ่งที่ใฝ่ฝันเมื่อตอนเด็ก ๆ”

“การนอนหลับหกชั่วโมงก็เพียงพอสำหรับผมแล้ว ผมตื่นเช้าเพื่อออกกำลังกาย แต่ช่วงนี้ผมก็ต้องทำงานหนักเนื่องจากโทรศัพท์ และโน้ตบุ๊คของผมเปิดตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้จะคงอยู่กับผมต่อไปตราบเท่าที่ผมรู้สึกมีความสุข” มอนชี่ กล่าวด้วยรอยยิ้ม

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้