Home บทความฟุตบอล ราล์ฟ รังนิก ผู้คิดค้น “เกเก้นเพรสซิ่ง”

ราล์ฟ รังนิก ผู้คิดค้น “เกเก้นเพรสซิ่ง”

0
ราล์ฟ รังนิก ผู้คิดค้น “เกเก้นเพรสซิ่ง”

ราล์ฟ รังนิก ได้รับคำชื่นชมมากมายตลอดอาชีพในเส้นทางวงการฟุตบอลของเขา ยุสซุฟ โพลเซ่น หัวหอกทีมชาติเดนมาร์ก ของ แอร์เบ ไลป์ซิก ทีมดังแห่งศึกบุนเดสลีกา เยอรมัน กล่าวถึง รังนิก ว่า เป็นคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ

ขณะที่ เควิน คัมเพิล กองกลางชาวเยอรมัน ของ ไลป์ซิก กล่าวว่า รังนิก เป็นคนคลั่งไคล้ฟุตบอลอย่างมาก ส่วน เจอร์เก้น คล็อปป์ ผู้จัดการทีม ลิเวอร์พูล สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งศึกพรีเมียร์ลีกกล่าวว่า รังนิก เป็นหนึ่งในกุนซือที่ดีที่สุดในโลก

บรรดาเทรนเนอร์ชาวเยอรมันอย่าง คล็อปป์, โธมัส ทูเคิล ของ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง และ ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ ของ ไลป์ซิก ต่างก็มี รังนิก เป็นต้นแบบในการทำงาน โดยปัจจุบันอิทธิพลของ รังนิก นั้น ยังแพร่กระจายไปยังในลีกอื่นของยุโรปอีกด้วย

ก้าวแรกสู่เส้นทางกุนซือ

Photo : spox.com

รังนิก ถือเป็นหนึ่งในโค้ชยอดฝีมือที่ไม่ได้โด่งดังมากนักสมัยเป็นนักเตะ โดยเจ้าตัวเริ่มเล่นฟุตบอลกับทีมสำรองของ สตุ๊ตการ์ท ในปี 1976 จากนั้น ย้ายไปเล่นกับ เซาธ์วิค ในลีกล่างอังกฤษระหว่างปี 1979-1980 ก่อนจะย้ายกลับมาเล่น พร้อมควบตำแหน่งกุนซือในบ้านเกิดกับ เอฟซี ไฮล์บรอน, เอสเอสวี อูล์ม, วิคตอเรีย บาคนัง และแขวนสตั๊ดกับ ลิปโปลด์สไวเลอร์ เมื่อปี 1988

ในยุคแรกที่ รังนิก เริ่มเข้าสู่เส้นทางกุนซือนั้น มันเป็นช่วงเวลาที่ทีมชาติเยอรมันกำลังครองความยิ่งใหญ่ในวงการลูกหนังด้วยระบบ 3-5-2 ซึ่งพลพรรค “อินทรีเหล็ก” ยุคดังกล่าวคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1990 และอีก 6 ปีต่อมาก็คว้าแชมป์ยูโร 1996 ได้สำเร็จ  

แม้เยอรมันจะประสบความสำเร็จกับสไตล์การเล่นอันแข็งแกร่ง แต่สำหรับ รังนิก เขากลับมี อาร์ริโก ซาคคี ตำนานกุนซือทีมชาติอิตาลี และ เอซี มิลาน เป็นต้นแบบ ซึ่งคำพูดของ ซาคคี ที่เคยกล่าวเปรียบเทียบอาชีพโค้ชไว้ว่า “ผมไม่เคยคิดเลยว่าการเป็นจ็อคกี้ที่ดีคุณต้องเป็นม้ามาก่อน” ยังคงอยู่ในความทรงจำของ รังนิก มาจนถึงทุกวันนี้

รังนิก เริ่มกล่าวว่า “โค้ชชั้นนำไม่เพียงแต่จะเป็นผู้นำที่ดีของทีมเท่านั้น แต่คุณยังต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆของเกมด้วย ถ้าคุณดูบุนเดสลีกา โค้ชมากกว่าครึ่งใน 18 คนนั้น ไม่ได้มีอาชีพนักฟุตบอลที่โดดเด่นมาก่อน แต่พวกเขาเริ่มพัฒนาทักษะ และวิธีการต่างๆจากฟุตบอลระดับเยาวชน”

เมื่อพูดถึงนักเตะเยาวชน ในปัจจุบันมีผู้เล่นชื่อดังหลายรายที่ผ่านการดูแลของ รังนิก มาแล้วสมัยที่ยังเป็นดาวรุ่ง อาทิ ติโม แวรเนอร์ หัวหอก เชลซี, นาบี เกอิต้า และ ซาดิโอ มาเน่ 2 ดาวเตะ ลิเวอร์พูล รวมถึง โยชัว คิมมิค ฟูลแบ็ค บาเยิร์น มิวนิค

คิดนอกกรอบ

Photo : besoccer.com

ขณะเดียวกัน รังนิก ยังถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ ไลป์ซิก ใช้เวลาเพียง 11 ฤดูกาลไต่เต้าตั้งแต่ลีกระดับดิวิชั่น 5 ก้าวมาสู่การเป็นสโมสรชั้นนำในเยอรมัน และสามารถเข้าถึงรอบรองชนะเลิศศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เมื่อปีที่ผ่านมาได้สำเร็จ

รังนิก ซึ่งเคยเป็นทั้งกุนซือ และ ผอ.กีฬา ไลป์ซิก รวมทั้ง หัวหน้าฝ่ายกีฬา และพัฒนาฟุตบอลในเครือ เร้ดบลูล์ เล่าต่อว่า “อาชีพเทรนเนอร์ของผมเริ่มตั้งแต่อายุ 19 ปี ส่วนนักฟุตบอลทีมชุดใหญ่ตอนนั้นก็มีอายุราว 25 ปี ซึ่งในเยอรมันมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะได้คุมทีมในดิวิชั่น 1 หรือ 2”

รังนิก อธิบายว่า เขาไม่ชอบระบบ 3-5-2 ที่ยอดฮิตในเยอรมัน โดยส่วนตัวนั้น เขาชื่นชอบการเล่นในแท็คติคคู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 2 คน, กองกลางตัวรับ 2 คน, ปีก 2 คนคอยทำเกมริมเส้น และเพลย์เมคเกอร์ หมายเลข 10 สร้างสรรค์เกมหลังหัวหอกตัวเป้า

“ผมอยากเล่นในรูปแบบที่แตกต่างออกไป และในช่วงเวลานั้นผมได้พบกับ เฮลมุท กรอส ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากในการเลิกใช้ระบบ ลิเบอโร่ ในวงการฟุตบอลเยอรมัน เขาเป็นที่ปรึกษาของผมในยุคแรกๆของการเป็นกุนซือ”

“นอกจากนี้ โค้ชชาวเยอรมันคนอื่น ๆ อีกหลายคนแนะนำผมให้รู้จักกับเทคนิคการมาร์คโซน ซึ่งตอนนั้น เอซี มิลาน กำลังนำมาใช้อยู่ เราศึกษาการเล่นของ มิลาน นานหลายชั่วโมง และมันชัดเจนว่า นี่คือแนวทางฟุตบอลที่ผมอยากนำมาใช้ในทีม” อดีต นายใหญ่ ไลป์ซิก กล่าว

กำเนิด “เกเก้นเพรสซิ่ง”

Photo : mdr.de

คำอธิบายทั้งหมดของ รังนิก มันคือจุดเริ่มต้นของ “เกเก้นเพรสซิ่ง” ย้อนกลับไปในปี 1998 เขาได้นำเสนอแนวทางแท็คติคของตัวเองกับช่องทีวีแห่งหนึ่งในเยอรมัน โดยตอนนั้น รังนิก แต่งกายด้วยชุดสูทสีดำ พร้อมกับสวมแว่นตาอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งหลังเสนอความคิดของตัวเองออกไปเขาก็ได้รับคำยกย่องว่า “ศาสตราจารย์ด้านฟุตบอล”

“ปฏิกิริยาจากสื่อ และคนอื่น ๆ ในวงการฟุตบอลที่มีต่อตัวผมนั้น แตกต่างออกไป เหตุผลหลักคือ เมื่อ 30 ปีก่อน ฟรานซ์ เบ็คเค่นเบาเออร์ ได้สร้างมาตรฐานสำหรับทีมส่วนใหญ่ในประเทศของเราด้วยตำแหน่ง ลิเบอโร่-สวีพเปอร์”

“ฟรานซ์ ยังเคยพูดในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 ว่า คุณไม่สามารถแบบมาร์คโซนได้ เพราะผู้เล่นเยอรมันจะไม่เข้าใจวิธีการเล่นแบบนั้น ผมถามตัวเองว่า ทำไมนักเตะเยอรมันถึงฉลาดน้อยกว่าคนในเบลเยียม สเปน หรือ เนเธอร์แลนด์ สำหรับผมนั่นมันไม่สมเหตุสมผลเลย” รังนิก กล่าว

ในที่สุด แนวทางการเล่น 3-5-2 อันเป็นเอกลักษณ์ของเยอรมันก็ต้องล่มสลายไปหลังจากพลพรรค “อินทรีเหล็ก” ล้มเหลวจากศึกฟุตบอลยูโร 2000 ซึ่งทำให้วงการลูกหนังเมืองเบียร์ต้องทบทวนวิธีการของพวกเขาอีกครั้ง

รังนิก กล่าวว่า “มันง่ายมาก เกเก้นเพรสซิ่ง คือ รูปแบบการเล่นฟุตบอลเชิงรุกคล้ายกับวิธีที่ โบรุสเซียดอร์ทมุนด์ และ ลิเวอร์พูล ภายใต้การคุมทีมของ คล็อปป์ ทำให้พวกเราเห็น เราจะกดดันสูงในแดนคู่แข่ง และสร้างเกมรุกทันทีเมื่อเราได้บอลมาครอบครอง เราจะไม่จ่ายบอลพร่ำเพรื่อ” 

“ผู้รักษาประตูไม่ควรเป็นคนที่มีการเล่นกับบอลมากที่สุดในทีม ซึ่งมันเป็นแบบนั้นเกือบทุกลีก และทุกประเทศ เพราะผู้รักษาประตูมีข้อจำกัดทางเทคนิคมากกว่าตำแหน่งอื่น ดังนั้น เราต้องทำให้แน่ใจว่า ผู้รักษาประตูจะสัมผัสบอลน้อยที่สุด เราต้องเอาบอลกลับมาให้เร็ว ควบคุมสถานการณ์ สร้างเกมรุก โต้กลับไว และเล่นด้วยความเร้าใจ”

คุมทีมในบุนเดสลีกา

Photo : 90min.de

หลังใช้เวลากับ ฮันเนอร์เวอร์ ในลีก 2 ของเยอรมัน ระหว่างปี 2001-2004 รังนิก ก็ได้โอกาสคุมทีมในบุนเดสลีกากับ ชาลเก้ 04 เป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะไปคุม ฮอฟเฟ่นไฮม์ ในลีก 2 อีกครั้ง เมื่อปี 2006 และพาทีมเลื่อนชั้นมาเล่นบุนเดสลีกาได้ในปี 2008

อดีตโค้ช ชาลเก้ เล่าต่อว่า “สิ่งที่เราทำใน ฮอฟเฟ่นไฮม์ มีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการฟุตบอลเยอรมัน  ผมจำได้ว่า ปีแรกของเราในบุนเดสลีกาเมื่อปี 2008 เราเล่นกับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ภายใต้การคุมทีมของ เจอร์เก้น คล็อปป์ ที่เพิ่งย้ายมาจาก ไมนซ์ และเราเอาชนะพวกเขาได้ 4-1”

“บางทีเราอาจจะยิงได้ 6-7 ประตูด้วยซ้ำ เพราะเรากดดันพวกเขาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเกม สัปดาห์ต่อมา เจอร์เก้น บอกว่า นี่เป็นสไตล์ฟุตบอลที่เขาต้องการทำกับ ดอร์ทมุนด์ ในอนาคต และ 2 ปีถัดมาเขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ทีมของเขาทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจจนสามารถคว้าแชมป์บุนเดสลีกา 2 ปีติดต่อกัน”

ในปี 2011 รังนิก อำลา ฮอฟเฟ่นไฮม์ กลับไปคุม ชาลเก้ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ และพาทัพ “ราชันสีน้ำเงิน” เข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ด้วย จากนั้น เขาก็ย้ายไปรับตำแหน่ง ผอ.กีฬาคนใหม่ของ เร้ดบลูล์ ซัลซ์บวร์ก ในออสเตรีย เมื่อปี 2012

จุดเปลี่ยนสำคัญ

Photo : news.at

การย้ายไปทำงานกับ ซัลซ์บวร์ก ถือเป็นความสำเร็จที่สุดยอดของ รังนิก เลยก็ว่าได้ เขาพัฒนาทีมเยาวชนของสโมสร และปรับโครงสร้างการทำงานใหม่แทบทั้งหมด รวมถึงยังมีทีมแมวมองคุณภาพในการสรรหาดาวรุ่งฝีเท้าดีเข้าสู่ทีม

รังนิก นำเสนอนโยบายใช้ประโยชน์จากนักเตะเยาวชนเป็นจุดศูนย์กลาง เขามีทีมงานคอยวิเคราะห์ และนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานแทบทุกด้าน นอกจากนี้ ยังทำให้สโมสรได้กำไรมหาศาลจากการขายผู้เล่นอีกด้วย

ในระหว่าง 2015-2019 รังนิก ได้ย้ายมาทำงานกับ ไลป์ซิก ทั้งในตำแหน่งเทรนเนอร์ และ ผอ.กีฬา และเขายังเป็นคนวางระบบโครงสร้างการทำงานของสโมสรในเครือ เร้ด บลูล์ ทั้งหมดอย่าง ซัลซ์บวร์ก, นิว ยอร์ค เร้ด บลูล์ ในสหรัฐฯ และ เร้ดบูลล์ บรากันติโน่ ในบราซิล

“มันค่อนข้างเหมือนกับในด้านอื่น ๆของชีวิต หากคุณก้าวไปข้างหน้าด้วยการพัฒนา และเส้นทางใหม่ ๆ มันอาจกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาบางอย่าง ยกตัวอย่าง ไลป์ซิก ก่อตั้งสโมสรขึ้นในปี 2009 และเลื่อนชั้น 3 ครั้งในรอบ 5 ปี”

“นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา พวกเขากลายเป็นทีมชั้นนำในศึกบุนเดสลีกา และได้เล่นในศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก อย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปถึงรอบรองฯเมื่อปีที่ผ่านมามันเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อจริงๆ” รังนิก กล่าว

ลูกศิษย์มากมาย

Photo : mdr.de

นอกจากวิสัยทัศน์อันสุดยอดแล้ว รังนิก ยังเป็นคนที่ค้นพบเพชรเม็ดงามได้อยู่เสมอ เขาเป็นคนเจอนัก มาเน่, เกอิต้า และ ทาคูมิ มินามิโนะ โดยระหว่างที่คุม ชาลเก้ เขาก็เป็นคนดึง โจเอล มาติป ขึ้นมาจากทีมเยาชน ส่วนในช่วงทำงานกับ ฮอฟเฟ่นไฮม์ เขาก็เป็นคนคว้าตัว โรแบร์โต้ ฟิร์มิโน่ มาจาก ฟิกูเรนเซ่

ปัจจุบันทั้ง มาเน่, เกอิต้า, มินามิโนะ, มาติป และ ฟิร์มิโน่ ย้ายมาเล่นกับ ลิเวอร์พูล ภายใต้การคุมทีมของ คล็อปป์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลยเนื่องจาก ทั้ง คล็อปป์ และ รังนิก นั้น มีมุมมองที่เหมือนกันในเรื่องฟุตบอล

บรรดากุนซือ และผู้ที่ทำงานเบื้องหลังวงการฟุตบอลยุคนี้หลายคนก็เคยผ่านการทำงานร่วมกับ รังนิก มาแล้วอาทิ โจเชน ซอเออร์ หัวหน้าศูนย์ฝึกเยาวชน บาเยิร์น มิวนิค เคยเป็น ซีอีโอ ซัลซ์บวร์ก ในปี 2012-2017  ส่วน มาร์โก โรส เทรนเนอร์ โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบลัค รวมทั้งผู้ช่วยอย่าง อเล็กซานเดอร์ ซิคเลอร์ และ เรเน่ มาริช ต่างเคยเป็นลูกทีมของ รังนิก

อาดี้ ฮุตเตอร์ โค้ช ไอน์ทรัค แฟร้งค์เฟิร์ต และ เซบาสเตียน เฮอร์เนส ผู้จัดการทีม ฮอฟเฟ่นไฮม์, มาร์คุส กิสโดล เทรนเนอร์ โคโลญจน์, โรเบิร์ต เคลาส์ นายใหญ่ เนิร์นแบร์ก และ โอลิเวอร์ กลาสเนอร์ กุนซือ โวล์ฟสบวร์ก ก็เคยร่วมงานกับ รังนิก มาแล้ว

พอล มิตเชลล์ ผอ.กีฬา โมนาโก เคยทำงานที่ ไลป์ซิก ขณะที่ โรเจอร์ ชมิดท์ กุนซือ พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น เคยคุม ซัลซ์บวร์ก เมื่อปี 2012-2014 ส่วน ราล์ฟ ฮาเซนฮุทเทิล ผู้จัดการทีม เซาธ์แธมป์ตัน เคยคุม ไลป์ซิก เมื่อปี 2016-2018

นาเกลส์มันน์ และ เจสซี่ มาร์ช โค้ช ซัลซ์บวร์ก ต่างก็เรียนรู้การทำงานจาก รังนิก เช่นกัน โดย นาเกลส์มันน์ กล่าวว่า “ราล์ฟ รังนิก มีวิธีพิเศษในมุมมองฟุตบอลของเขา ผมใช้ปรัชญาของเขาที่ ฮอฟเฟ่นไฮม์ โดยเฉพาะ เกเก้นเพรสซิ่ง”

มาร์ช กล่าวเสริมว่า “ราล์ฟ เป็นคนที่หลงใหลฟุตบอล เขากระอตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา และมักมีไอเดียวใหม่ๆอยู่เสมอ นอกจากนี้ เขายังชอบสร้างสรรค์แท็คติคใหม่ๆด้วย ทั้งหมดนี้คือความยอดเยี่ยมของเขา เขาปรับตัวให้เข้ากับวิวัฒนาการของฟุตบอลได้เป็นอย่างดี”

ยังมีไฟในการทำงาน

Photo : world-today-news.com

ปัจจุบัน รังนิก อายุ 62 ปี แต่ยังคงมีความกระหายเต็มเปี่ยม โดยช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมาเขาเกือบจะไปคุมทีม เอซี มิลาน เต็มทีแล้ว แต่ท้ายที่สุด “ปีศาจแดงดำ” เลือกจะให้โอกาส สเตฟาโน่ ปิโอลี่ เทรนเนอร์ชาวอิตาเลียน ต่อไป

รังนิก เล่าว่า “มิลาน ติดต่อผมเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตอนนั้นพวกเขาอยู่อันดับที่ 13 ในลีก และห่างโซนตกชั้นเพียง 3 แต้ม จากนั้น ไวรัสโคโรน่าก็ระบาด ดังนั้น มันคงไม่ใช่เรื่องฉลาดนักสำหรับตัวผมเอง และเจ้าหน้าที่ของเอซี มิลาน ที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในช่วงเวลาแบบนั้น”

ขณะเดียวกัน รังนิก ยังได้อธิบายถึงแนวทางการทำงานของเขาเพิ่มเติมด้วยว่า “สำหรับผมมันชัดเจนมากเสมอว่า ต้องมีใครสักคนในสโมสรที่รับผิดชอบค่านิยม และแนวทางของสโมสร คนที่รับผิดชอบไม่เพียงแต่ทำงานในเรื่องอัตลักษณ์ขององค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมองค์กรทั้งหมดด้วย”

 “ผมขอยกตัวอย่าง 3 สิ่งสำคัญที่สุดในวงการฟุตบอลคือ เงินทุน แนวคิด และ ความสามารถ ซึ่งแน่นอนว่า ในวงการฟุตบอลมันเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินพอสมควร อย่างไรก็ตาม เงินไม่ใช่คำตอบทั้งหมดถ้าคุรไม่มีวิธีคิด และความสามารถที่ดี คุณต้องรวมทั้ง 3 อย่างเข้าด้วยกันเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน”

“แผนการพัฒนาสโมสร และบุคลากรที่มีความสามารถ มันจะเป็นไปได้ดีที่สุดในการดำเนินการตาม3 สิ่งที่ผมบอกไป ซึ่งทั้งหมดมันเป็นรากฐานในความสำเร็จด้านกีฬาของ เร้ดบลูล์ และมันเป็นการปูทางไปสู่การพัฒนาผู้เล่นที่มีคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าทางการตลาด”

เปิดใจรับฟังคนรอบข้าง

Photo : onefootball.com

รังนิก ยังเป็นคนที่ให้ความรู้กับทีมงานแมวมองของเขาอยู่เสมอ โดยระบุว่า “มันไม่ค่อยสมเหตุสมผลนักที่จะพัฒนาทีมแมวมอง หรือทีมงานที่เกี่ยวข้องหากคุณไม่รับฟังพวกเขา สำหรับผมมันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องวางแผนการลงทุนคุณในเชิงรุก และไม่ใช่แค่พึ่งพาเอเย่นต์ที่แนะนำนักเตะของพวกเขาเข้ามาเพียงอย่างเดียว”

“ขั้นตอนที่ผมอธิบายมามันทำให้เราได้เซ็นสัญญากับนักเตะอย่าง มาร์เซล ซาบิตเซอร์, มาร์เซล ฮัลสเตนแบร์ก, ลูคัส คลอสเตอร์มันน์, ซาดิโอ มาเน่, นาบี เกอิต้า, ดาโยต์ อูปาเมกาโน่, โจชัว คิมมิช และ เควิน คัมเพิล”

นอกเหนือจากวิวัฒนาการเชิงวิเคราะห์ และแท็คติคแล้ว รังนิก รู้สึกว่า ก้าวต่อไปของฟุตบอลคือการฝึกฝนจิตใจของผู้เล่น โดยกล่าวต่อว่า “ความคิดที่ดีที่สุดคือ ความสามารถ บุคลิกภาพ และผู้เล่นพยายามที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นในทุกๆวัน”

“นอกจากความคิดที่ดีที่สุดแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการฝึกซ้อมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคือการพัฒนาความสามารถในการรับรู้เพื่อตัดสินใจภายใต้ความกดดันเมื่อผู้เล่นอยู่ในพื้นที่จำกัด และคับแคบของสนาม”

ปลายทางต่อไปของ รังนิก ยังไม่ชัดเจนว่า จะเป็นที่ใด เขาตกเป็นข่าวเชื่อมโยงกับตำแหน่ง ผอ.กีฬา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เอฟเวอร์ตัน และ ทีมชาติอังกฤษ แต่ในเวลานี้ อดีตกุนซือผู้คิดค้น “เกเก้นเพรสซิ่ง” ยังไม่ตัดสินใจอนาคตของตัวเอง

“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราสามารถรักษาคุณภาพของวงการของเยอรมันไว้ได้อย่างแท้จริง วินัย ต่อสู้และตั้งใจอย่างมากที่จะชนะในรูปแบบการเล่นของเราเอง ในขณะเดียวกันเราก็พัฒนาโค้ชที่มีกลยุทธ์ระดับสูง ที่รู้วิธีการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่ได้อย่างน่าประทับใจ” รังนิก กล่าวทิ้งท้าย

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้