13 กุนซือในเครือสหราชอาณาจักร ที่ออกไปพิสูจน์ฝีมือนอกประเทศ ตอนแรก

หลังจากที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมยักษ์หลับแห่งศึก พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เพิ่งจะตัดสินใจครั้งใหญ่ ด้วยการประกาศดึงตัว เอริก เทน ฮาก เทรนเนอร์ชาวเนเธอร์แลนด์ เข้ามารับไม้ต่อเป็นกุนซือคนใหม่ในซีซั่นหน้า ท่ามกลางกระแสของแฟนบอลที่แบ่งออกเป็นสองฝ่าย มีทั้งที่เห็นด้วยเพราะเชื่อในศักยภาพ แต่มีมีอีกส่วนที่มองว่า เทน ฮาก ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองมากพอ อาจมีดีแค่การคุมทีมในบ้านเกิดเท่านั้น พอออกมานอกประเทศ อาจจะไม่สวยหรูแบบที่คาด

ในยุคเก่าก่อนนั้นลีกสูงสุดประเทศอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นทีมเล็ก ทีมใหญ่ หรือแม้แต่ทีมชาติ ล้วนแต่มีเทรนด์นิยมยอดฮิต ที่ชอบเลือกใช้บริการกุนซือภายในสหราชอาณาจักรเป็นหลัก ค่อนข้างหัวโบราณ มีความเป็นชาตินิยมอยู่สูง อันมีผลมาจากสื่อในประเทศ ที่ชอบเสกสรรค์ปั้นแต่ง อวยผลงานของชนชาติตัวเอง จนมากเกินฝีมือที่แท้จริง ส่งผลให้หลายต่อหลายราย เลือกที่จะออกไปรับงานต่างประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นแบบแจ้มแจ้งต่อสายตาแฟนบอลทั่วโลกว่า พวกเขามีของ

บทความนี้ทีมงาน 168Kick พร้อมนำเสนอ 13 กุนซือที่มีเชื้อชาติอยู่ในเครือสหราชอาณาจักร หรือ เกรท บริเตน ที่เคยออกไปเสี่ยงดวงรับงานคุมทีมนอกประเทศ ซึ่งแต่ละรายล้วนมีผลงานที่แตกต่างกันออกไป ช่วงเวลาที่โลดแล่นอยู่ในวงการ ก็ต่างยุคต่างสมัย อาจเจอปัจจัยที่เป็นผลกระทบต่างกัน โดยจะขอแบ่งเป็น 2 ตอน ซึ่งในตอนแรกนี้จะนำเสนอจำนวน 7 ราย เป็นการเปิดหัวเรียกน้ำย่อยกันไปก่อน มาลุ้นกันไปพร้อมๆ กันเลยว่า จะมีผู้จัดการทีมชื่อดังคนไหนติดโผเข้ามาบ้าง? ผลงานของพวกเขาลงเอยแบบไหน?

เริ่มต้นกันที่รายแรก ปัจจุบันทำงานเป็นคอมเมนเตเตอร์ชื่อดัง ที่แฟนบอลอาจเห็นหน้าของเขาได้บ่อยทุกสุดสัปดาห์ทางช่อง สกาย สปอร์ตส มีการวิจารณ์ สับเละ ทีมต่างๆ แบบตรงไปตรงมา แต่แอบมีเอนเอียงอดีตสโมสรเก่าอย่าง ปีศาจแดง อยู่บ้าง จะเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจา แกรี่ เนวิลล์ อดีตแบ็คขวาดีกรีทีมชาติอังกฤษ ที่เคยตัดสินใจรับงานคุมทีม บาเลนเซีย สโมสรชื่อดังในศึก ลาลีก้า สเปน ในปี 2015 พร้อมจับน้องชาย ฟิล เนวิลล์ มารับทผู้ช่วยผู้จัดการทีม แต่กลับลงเอยได้อย่างสุดห่วยแตก แล้วโดนไล่ออกในเดือนมีนาคมปีต่อมา จากผลงานที่พาทีม ไอ้ค้างคาว เก็บชัยชนะไปได้แค่ 3 นัดเท่านั้นในเกมลีก

รายที่สองเป็นกุนซือระดับตำนานที่แฟนบอลในอังกฤษ คงคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือ เซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน ที่เริ่มต้นจับงานคุมทีมครั้งแรก ด้วยการควบตำแหน่งผู้เล่น-ผู้จัดการทีมในประเทศแคนาดา แต่พอย้ายกลับมาทำทีม ฟูแล่ม ช่วงปลายยุค 60 กลับไปไม่สวยดังคาด หลังจากนั้น ร็อบสัน ได้รับงานคุมทัพ “ม้าขาว อิปสวิช แล้วประสบความสำเร็จอย่างสูง คว้าแชมป์ ยูฟ่า คัพ และ เอฟเอ คัพ มาครองได้ แถมอยู่กับทีมนานถึง 13 ปี ก่อนจะต่อยอดความสำเร็จดด้วยการไปคุม พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น และ ปอร์โต้ ซึ่งทำให้เขาได้พบกับ โชเซ่ มูรินโญ่ เทรนเนอร์ชื่อดังในปัจจุบัน ที่ในเวลานั้นยังอยู่ในช่วงเรียนรู้ เชื่อว่า ร็อบสัน คงถ่ายทอดวิชาของเขาให้กับ เดอะ สเปเชี่ยล วัน ไปไม่น้อย เพราะถึงขนาดหนีบไปเป็นผู้ช่วยของเขาที่ บาร์เซโลน่า ในปี 1996 เลยทีเดียว

รายที่สามที่มีชื่อติดโผเข้ามา เป็นผู้จัดการทีมสัญชาติเวลส์อย่าง จอห์น โตแช็ค ที่เคยเป็นนักเตะที่ทำผลงานให้กับสโมสร ลิเวอร์พูล ได้อย่างยอดเยี่ยมในยุคปี 70 ก่อนจะได้จับงานคุมทีมเป็นครั้งแรกกับสโมสร สวอนซี ซิตี้ ด้วยการควบบทบาทผู้เล่นและผู้จัดการทีม ก่อนจะถูกดันขึ้นมารับตำแหน่งผู้จัดการทีมเต็มตัวในปี 1983 ฝีมือของเขานับว่าจัดอยู่ในเกณฑ์ที่มีดีอยู่พอตัว เลยได้ไปรับงานนอกสหราชอาณาจักรมากมาย ไล่เรียงมาตั้งแต่ สปอร์ติ้ง ลิสบอน รวมไปถึงหลายทีมใน สเปน ฝรั่งเศส ตุรกี แต่แฟนบอลคงจำได้มากที่สุดตอนที่เขาอยู่กับ เรอัล มาดริด หลังจากนั้น โตแช็ค ก็รับงานแบบทุกที่แบบไม่มีพรมแดน ไม่เว้นแม้แต่ทีมอย่าง แทรคเตอร์ ซาซี่ ในประเทศอิหร่าน

ถัดมาที่รายที่สี่ เป็นอดีตผู้เล่นในตำแหน่งปีกตัวจี๊ดของสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มีลีลาการเล่นที่จัดจ้าน เร้าใจ แต่กลับไม่สามารถฝืนสังขารได้ไหวในช่วงท้ายของการเล่นฟุตบอลอาชีพ หลังจากเจออาการบาดเจ็บเข่าเล่นงาน นั่นก็คือ สตีฟ ค็อปเปล ที่ตัดสินใจแขวนสตั๊ดในวัยแค่ 28 ปีเท่านั้น แล้วหันมารับงานคุมทีมแทนนับตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา ซึ่งทีมแรกที่ ค็อปเปล ได้ลองของ คือ คริสตัล พาเลซ ก่อนจะไปประสบความสำเร็จพอสมควรกับ เรดดิ้ง ที่ได้รับรางวัลผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมในปี 2007 จากผลงานพาทีมจบอันดับที่ 8 บนลีกสูงสุด แต่แล้วในปี 2016 ค็อปเปล ก็เลือกไปรับงานคุมทีม คีราล่า บลาสเตอร์ ในลีกอินเดีย แล้วนับตั้งแต่นั้นก็ไม่เคยกลับมาทำงานในอังกฤษอีกเลย

ต่อกันที่รายที่ 5 เป็นผู้จัดการทีมที่ถือว่ามีชื่ออีกคนหนึ่งในวงการ เริ่มต้นจับงานคุมทีม คริสตัล พาเลซ ในปี 1976-80 แล้วพาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จ ก่อนจะหันไปรับงานคุมทัพ ควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส ในลีกรอง แล้วก็สามารถพาทีมไต่ขึ้นมาเล่นบนลีกสูงสุดได้อีกทีม รวมไปถึงการทำอันดับไปเล่นบอลยุโรปได้อีกด้วย แต่งานที่น่าจดจำที่สุดแล้วเป็นการรับงานนอกประเทศของ เทอร์รี่ เวนาเบิ้ลส์ คือ การได้คุมทัพ บาร์เซโลน่า แล้วใส่่แผนการเล่น 4-4-2 ลงไปได้อย่างลงตัว จนได้รับฉายาว่า เอล เทล เนื่องจากสามารถพาทีมเป็นแชมป์ ลาลีก้า สเปน ได้ตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาทำทีม หลังจากนั้นก็หันไปจับงานระดับชาติ ด้วยการคุมทัพ “จิงโจ้ออสเตรเลีย ในยุค 1990

ต่อเนื่องกันที่รายที่ 6 เป็นอดีตสตาฟฟ์โค้ชคู่ใจของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่ได้รับเครดิตเป็นอย่างมาก ในการดูแลทีมชุดอายุต่ำกว่า 21 ปี ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อันเป็นที่มาของการได้รับโอกาสเป็นผู้จัดการทีมเต็มตัวครั้งแรกของ วอร์เรน จอยซ์ ด้วยการรับงานคุมทีม รอยัล อันทเวิร์ปส สโมสรพันธมิตรในลีกเบลเยี่ยม ก่อนจะกลับมารับงานคุมทัพ วีแกน แอธเลติกส์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หลังจากนั้นก็ชีพจรลงเท้า ได้รับข้อเสนอจาก เมลเบิร์น ซิตี้ ทีมในลีกออสเตรเลีย ให้ไปรับตำแหน่งกุนซือในปี 2016 แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ต้องกลับมารับงานในอังกฤษอีกครั้งกับสโมสร ซัลฟอร์ด ซิตี้ ในปี 2019

ปิดท้ายสกู๊ปนี้กันที่อันดับที่ 7 เป็นกุนซือรุ่นเก๋าที่อยู่ในวงการฟุตบอลอังกฤษมาอย่างยาวนาน ซึ่งแฟนบอลยุคใหม่อาจจะไม่เชื่อว่า รอย ฮอดจ์สัน คุณปู่จอมเก๋าแห่งวงการ เคยออกไปรับงานนอกประเทศกับเขาด้วยเหมือนกัน เพราะเคยมีดีกรีเป็นผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง สามารถพูดได้มากถึง 5 ภาษา โดยงานแรกนั้นเป็นสโมสร ฮาล์มสตัดท์ ในลีกสวีเดน ในปี 1976 แถมพาทีมครองแชมป์ได้สำเร็จ จนได้รับเครดิตว่าเป็นหนึ่งในบุคลากรที่พัฒนาลีก ไวกิ้ง ให้มีศักยภาพมากขึ้นในยุค 70-80 ต่อมาในปี 1995 ฮอดจ์สัน ได้ตำแหน่งเทรนเนอร์ของยักษ์ใหญ่อย่าง อินเตอร์ มิลาน ในศึก กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี แล้วพาทัพ งูใหญ่ กลับไปเล่นในถ้วยยุโรปได้อีกครั้ง หลังจากนั้นก็โคจรรับงานไปทั่วหลายลีก อาทิ สวิตเซอร์แลนด์, เดนมาร์ค, นอร์เวย์ และ ฟินแลนด์ นับเป็นหนึ่งคนที่ปรับตัวเข้ากับได้กับทุกวัฒนธรรมอย่างเหลือเชื่อ

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้

Scroll to Top