13 กุนซือในเครือสหราชอาณาจักร ที่ออกไปพิสูจน์ฝีมือนอกประเทศ ตอนจบ

เข้าสู่ตอนปิดท้ายของซีรีส์ 13 ผู้จัดการทีมในเครือสหราชอาณาจักร ที่ออกไปรับงานคุมทีมต่างประเทศ ซึ่งแฟนๆ คงได้เห็นกันไปแล้วว่า มีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ได้รับการยอมรับเรื่องฝีมือ จากแฟนฟุตบอลต่างชาติ แต่ก็มีอีกจำพวกที่ล้มเหลวแบบไม่เป็นท่า ต้องหันกลับมาจับงานในเซฟโซนเช่นเดิม เนื่องจากคุ้นเคยกับเรื่องภาษาและวัฒนธรรมมากกว่า ได้ความเคารพและการยอมรับจากนักเตะดีกว่า แม้ว่าในส่วนนั้นอาจเป็นแค่ปัจจัยเสี้ยวเล็กๆ ทีกั้นระหว่างการเอาตัวรอดได้ กับ การไปไม่รอด แต่ถือเป็นสิ่งที่สามารถกระทบองค์รวมจนเป๋ตั้งแต่แรกเริ่ม

ขึ้นชื่อว่าสื่อแดนผู้ดี แฟนบอลที่ติดตามข่าวสารวงการลูกหนังอยู่เป็นประจำ คงคุ้นเคยกับกิตติศัพท์เป็นอย่างดี เรื่องการอวยจนโอเวอร์ ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอลหรือกุนซือ หากอยู่ในเครือสหราชอาณาจักร ไม่ได้ทำท่าทางเป็นปฏิปักษ์จนเกินไปตามชาตินิยมต่างๆ รับรองว่าฝีมือและฝีเท้าตามหน้าสื่อจะบวกความเก่งไปอย่างน้อยเท่าตัว หากมีผลงานที่โดดเด่นขึ้นมาแบบจับต้องได้สักอย่างหนึ่ง อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนที่หลงระเริงกับแรงอวยปลอมๆ เสียทรงมาแล้วนักต่อนัก ถึงขนาดที่กลับเข้าฝั่งไม่ได้เลยก็มีให้เห็นกันมาแล้ว

บทความนี้ พร้อมนำเสนอรายชื่อผู้จัดการทีม 6 คนสุดท้าย ที่เข้าเกณฑ์การคัดเลือกติดโผเข้ามาในสกู๊ปนี้ ซึ่งไม่ได้มีการจัดลำดับผลงานแต่อย่างใด อาจมีทั้งคนที่ไปได้ดี และ ล้มเหลวแบบไม่เป็นท่า ปะปนกันมาตามเนื้อผ้า แต่ล้วนแล้วแต่เป็นการสะท้อนผลงานที่ชัดเจนว่า คุณภาพของสินค้าส่งออกของพวกเขา สามารถเทียบเคียงกับกุนซือชาติอื่นๆ ที่เด่นดังไปทั้งวงการได้จริงหรือไม่? มาลุ้นกันไปพร้อมๆ กันเลยว่า จะมีผู้จัดการทีมที่แฟนบอลคิดเอาไว้ในใจเข้ามาในลิสต์หรือไม่? ผลงานที่ผ่านมาของพวกเขาเป็นเช่นไร? ทุกคำตอบมีอยู่ในบทความนี้เรียบร้อยแล้ว

เริ่มต้นกันที่รายแรก เป็นผู้จัดการทีมสัญชาติอังกฤษ ที่นับว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ไฟแรง ที่กำลังน่าจับตามองบนเวที พรีเมียร์ลีก เลยทีเดียว เพราะทาง เกรแฮม พ็อตเตอร์ สามารถพาทัพ ไบรท์ตัน พลิกโฉมจากทีมที่มีการเล่นบอลที่น่าเบื่อ เปลี่ยนมาเป็นการต่อบอลที่สวยงามและมีประสิทธิภาพ ก่อนย้ายไปต่อยอดกับ เชลซี อยู่ในตอนนี้ โดยก่อนหน้าที่ พ็อตเตอร์ เคยไปรัลงานคุมทีม ออสเตอร์ซุนด์ ในประเทศสวีเดน แล้วพาลูกทีมขึ้นมาเล่นบนลีกสูงสุดได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร แถมยังมีถ้วย สวีดิช คัพ ติดไม้ติดมืออีกด้วย แล้วนั่นก็เป็นใบเบิกทางชิ้นสำคัญที่ทำให้ สวอนซี ซิตี้ ดึงตัวเขามารับงานคุมทีมในปี 2018

ต่อมาเป็นในรายของ ฟิล บราวน์ อดีตกุนซือปากร้ายของ ฮัลล์ ซิตี้ ที่เคยสบถคำหยาบใส่ลูกทีมแบบไม่ยั้งในเกม บ็อกซิ่ง เดย์ ที่ข้างสนาม ต่อหน้าแฟนบอลเรือนหมื่นในปี 2008 แล้วได้อยู่ในตำแหน่งถึงปี 2011 ก่อนไปรับงานคุมทัพ เปรสตัน, เซาท์เอนด์ และ สวินดอน แต่ไม่ประสบความสำเร็จสักที่เดียว หลังจากนั้นในปี 2018 บราวน์ จึงตัดสินใจครั้งสำคัญ เก็บกระเป๋าไปรับงานคุมทีม ปูเน่ ซิตี้ ในเดือนธันวาคม อยู่คุมทีมยาวจนถึงยุคที่ทีมเปลี่ยนชื่อเป็น ไฮเดอราบัด เอฟซี แต่เมื่อปีที่ผ่านมานี้เองที่เขาย้ายสำมะโนครัวกลับมาตายรัง

ถัดมาในรายที่สามเป็นกุนซืออย่าง ไนเจล เพียร์สัน ที่เคยผ่านการคุมทีมบนลีกสูงสุดแดนผู้ดีมาแล้วสองสโมสร ประกอบไปด้วย เลสเตอร์ ซิตี้ และ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ แล้วได้รับการยอมรับในวงการพอสมควรว่าเป็นโค้ชที่มีฝีมือ แต่ผลงานกับ แกะเขาเหล็ก ที่ไม่สวยหรูตามที่วางแผนไว้ ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งได้ไม่ถึงครึ่งปี เพียร์สัน จึงตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปประเทศเบลเยี่ยม ด้วยการรับงานคุมทัพ โอเอช ลูเวิร์น สโมสรในระดับดดิวิชั่น 2 ในปี 2017 ซึ่งปรากฏว่าเขาได้รับความไว้วางใจ ให้อยู่คุมทีมนานถึงสองปี แต่พอไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการถูกปลดออกจากตำแหน่งเหมือนเดิม หลังจากได้รับข้อเสนอให้กลับมาคุมต้นสังกัดเก่าอย่าง เซาท์เอนด์ เป็นคำรบที่สอง

ต่อเนื่องกันที่รายที่ 4 แฟนบอลลีกอังกฤษตลอดช่วงสองช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คงคุ้นชื่อกุนซือรายนี้เป็นอย่างดี เพราะวนเวียนคุมทีมให้เห็นกันอยู่เป็นประจำ มีโมเมนต์ที่ทั้งดีและร้ายให้จดจำมากมาย นั่นก็คือ อลัน พาร์ดิว แต่พอถึงในปี 2019 ก็เลือกที่จะออกไปรับงานนอกเกาะอังกฤษ เพื่อเผชิญความท้าทายใหม่ๆ แล้วจุดหมายของเขาคือสโมสร เอดีโอ เดน ฮาก ทีมท้ายตารางในศึก เอเรดิวิซี่ ลีก ฮอลแลนด์ แต่พอเจอวิกฤติ โควิด-19 เข้าเล่นงาน ผลงานเลยไม่เป็นไปตามเป้า ถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนเมษายนปีถัดมา ก่อนจะย้ายไปรับงานที่ปรึกษาให้กับสโมสร ซีเอสเคเอ โซเฟีย ในประเทศบัลแกเรีย ที่ล่าสุดถูกปรับตำแหน่งกลับมาเป็นผู้จัดการทีมแล้ว

เข้าสู่ตำแหน่งรองสุดท้ายในสกู๊ปนี้ เป็นกุนซือฉายา หนวดหิน ที่แฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อาจไม่ค่อยชอบขี้หน้าเขามากนัก เพราะส่วนใหญ่คอมเมนต์สโมสรไปในทางลบเสมอ เนื่องจาก แกรม ซูเนสส์ เคยเป็นอดีตผู้เล่นของสโมสรคู่อริอย่าง ลิเวอร์พูล ที่ได้รับเกียรติเป็นกัปตันทีม พาทัพ หงส์แดง ครองความยิ่งใหญ่อยู่ช่วงหนึ่งในยุค 80 โดยงานกุนซืองานแรกของ ซูเนสส์ เป็นการได้คุมทัพ เรนเจอร์ส ในปี 1986 แล้วกลับมาเป็นผู้จัดการทีมให้กับต้นสังกัดเก่าอย่าง ลิเวอร์พูล ช่วงยุค 90 แต่ผลงานไม่เป็นที่จดจำ หลังจากนั้นก็ชีพจรลงเท้า ตระเวนรับงานไปหลายสโมสรในต่างประเทศ อาทิ เช่น กาลาตาซาราย ในลีกตุรกี, โตริโน่ ในลีกอิตาลี และ เบนฟิก้า ในลีกโปรตุเกส

ปิดท้ายสกู๊ปนี้กันที่อดีตมือขวาคู่บุญของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่ตอนแรกแฟนๆ ต่างมั่นใจว่า สักวันหนึ่งหาก สตีฟ แม็คคลาเรน ได้โอกาสคุมทีมแบบเต็มตัว คงจะเป็นกุนซือที่มีฝีมือเป็นอย่างมาก เพราะเก็บเกี่ยวประสบการและความสำเร็จมาเต็มเปี่ยม แม้ว่าช่วงแรกที่เขาไปรับงานคุมทีมชาติอังกฤษ จะทำแฟนบอลส่ายหัวกันเป็นแถว เพราะผลงานที่สุแสนย่ำแย่ แต่พอย้ายออกไปรับงานต่างประเทศ ด้วยการคุมทีม เอฟซี ทเวนเต้ ปรากฏว่า ทำเซอร์ไพรส์ พาทีมครองแชมป์ลีกสูงสุดประเทศฮอลแลนด์ได้อย่างเหลือเชื่อ แล้วเป็นแชมป์ประวัติศาสตร์ครั้งแรกของสโมสรอีกด้วย นับเป็นรายที่สองต่อจาก เซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน ที่พาทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดดนอกประเทศได้ หลังจากนั้นก็ย้ายไปรับงานหลายที่ ไม่ว่าจะเป็น โวล์ฟสบวร์ก ในศึก บุนเดสลีก้า เยอรมัน กลับมาที่ ทเวนเต้ อีกครั้ง และโคจรไปไกลถึงประเทศอิสราเอล ในการคุมทัพ มัคคาบี้ เทล อาวีฟ

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้

Scroll to Top