Home บทความฟุตบอล ความแตกต่างแทคติกส์ “เป๊ป” หลังคุมสามยักษ์ใหญ่…ตอนที่ 2 “บาเยิร์น มิวนิค”

ความแตกต่างแทคติกส์ “เป๊ป” หลังคุมสามยักษ์ใหญ่…ตอนที่ 2 “บาเยิร์น มิวนิค”

0
ความแตกต่างแทคติกส์ “เป๊ป” หลังคุมสามยักษ์ใหญ่…ตอนที่ 2 “บาเยิร์น มิวนิค”

อ่านตอนแรกได้ที่นี่ครับ: ความแตกต่างแทคติกส์ “เป๊ป” หลังคุมสามยักษ์ใหญ่…ตอนที่ 1 “บาร์เซโลน่า”

หลังฝากตำนานไว้กับ บาร์เซโลน่า…ในเดือนกรกฏาคม ปี 2013 เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ก็ออกไปหาความท้าทายครั้งใหม่กับทีมยักษ์ใหญ่นอกประเทศสเปนบ้านเกิดกับยักษ์ใหญ่ในศึกบุนเดสลีกา เยอรมัน อย่าง บาเยิร์น มิวนิค ที่งานของเขาไม่ได้ง่ายเลยเพราะเป็นสโมสรที่มีความคาดหวังเรื่องความสำเร็จสูงมาก

บาเยิร์น มิวนิค : ระบบการเล่น 4-1-4-1

แผนการเล่น 4-1-4-1 เป็นระบบที่ เป๊ป ใช้บ่อยที่สุดในการคุมทัพเสือใต้ ด้วยขนาดทีมที่ใหญ่กว่า บาร์เซโลน่า การปรับเปลี่ยนตัวผู้เล่นก็สามารถทำได้แบบหลากหลาย โดยจุดเด่นก็ยังคงเป็นแผงกองกลางเช่นเคยที่แต่ละคนล้วนแต่มีเทคนิคเฉพาะตัวในเรื่องของการครองบอล และจ่ายบอลได้อย่างยอดเยี่ยม…ขอไล่ตั้งแต่ผู้รักษาประตู มานูเอล นอยเออร์ นั้นดีกรีเรื่องการเซฟประตูนั้นหายห่วง แถมยังได้ทักษะใช้เท้าเล่นบอลได้ดี ทำให้เขาออกมาช่วยเป็น Sweeper Keeper หรือผู้รักษาประตูที่ดันขึ้นมายืนสูงเพื่อช่วยกองหลังตัดบอลอยู่บ่อยครั้ง แบ็คขวาเป็น ฟิลิปป์ ลาห์ม ที่โดดเด่นทั้งรุกรับอย่างสมดุลย์ แบ็คซ้ายเป็น ดาวิด อลาบา ที่จุดเด่นไม่ต่างจากฝั่งขวาเลย คู่เซนเตอร์ตรงกลางหมุนเวียนใช้หลายคนแต่ขอเลือกเป็น ดันเต้ ที่สามารถขึ้นเกมได้จากแดนหลัง คู่กับ เยโรม บัวเต็ง ที่สูงใหญ่แต่มีความคล่องตัวสูง กองกลางตัวรับเป็น ฆาบี มาร์ติเนซ ที่ดึงจังหวะช้า-เร็วของเกมได้ดี ปีกขวาเป็น อาร์เยน ร็อบเบน ที่มีคราวเร็วสูง, เลี้ยงบอลกินตัวได้ดี และจบสกอร์ยอดเยี่ยม ปีกซ้ายเป็น ฟร้องค์ ริเบรี่ ที่ความอันตรายไม่ต่างจากฝั่งขวา คู่กองกลางเป็น โทนี่ โครส ที่จ่ายบอลสั้น-ยาว ได้ยอดเยี่ยม และมีทีเด็ดอยู่ที่การยิงไกล จับคู่กับ บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ ที่คอยเป็นลูกหาบวิ่งรับบอลสั้นๆ เพื่อเชื่อมเกม และช่วยไล่ตัดบอลในเกมรับ แดนหน้าทิ้ง โธมัส มุลเลอร์ ไว้เป็นตัวทีเด็ดที่ครบเครื่องในเรื่องการหาตำแหน่งที่ยอดเยี่ยม และลงมาเชื่อมเกมได้อีกด้วย

การเซตตำแหน่งขึ้นเกม

การขึ้นเกมของ เสือใต้ มีความคล้ายคลึงกับ เจ้าบุญทุ่ม คือ ถ่างเซ็นเตอร์สองฝั่งออกไปด้านข้าง และถอยกองกลางตัวรับลงมาเป็นตัวรับบอลระยะสั้น ทำให้ทาง นอยเออร์ สามารถเลือกจ่ายระยะสั้นได้สามทางเลือก ดันเต้-ซ้าย, มาร์ติเนซ-กลาง และบัวเต็ง-ขวา แต่เนื่องด้วย นอยเออร์ เป็นนายทวารที่เปิดบอลได้ค่อนข้างแม่นยำจึงสามารถเลือกที่จะโยนไปตรงกลางสนามให้กับกองกลางทั้งสี่คน หรือแม้แต่จะโยนยาวให้กองหน้าอย่างมุลเลอร์ หรือ มานด์ซูคิช ที่เล่นลูกกลางอากาศได้ดีเพื่อเก็บบอลให้กองกลางสี่คนที่รอเก็บตกจังหวะสองก็ได้เช่นกัน

การเคลื่อนบอลทำเกมบุก

รูปแบบการเซตตำแหน่งในเกมบุกคล้ายคลึงกับทาง บาร์เซโลน่า แต่มีความแตกต่างในรายละเอียดการเล่นบางตำแหน่ง…ฟูลแบ็คซ้าย-ขวา จะถูกดันขึ้นไปยืนเสมอในไลน์เดียวกับกองกลางตัวรับ จะเห็นว่าตอนนี้ในแดนกลางจะมีผู้เล่นอยู่ถึง 5 คนด้วยกันยืนอยู่เป็นโซนเพื่อถ่ายบอลรอจังหวะในระยะสั้น ซึ่งทาง มาร์ติเนซ จะรับหน้าที่เป็นตัวคอยรับบอลดึงจังหวะช้า-เร็วของเกมบุกชุดนั้น นอกจากนี้ปีกทั้งสองข้างอย่าง ริเบรี่ กับ ร็อบเบน จะดันขึ้นสูงเพื่อรอโจมตีในแดนบน และมี มุลเลอร์ คอยหาจังหวะในพื้นที่อันตราย

การเคลื่อนที่เข้าทำประตู

รูปแบบการเคลื่อนเข้าทำเกมบุกของ บาเยิร์น มิวนิค นั้นจะไม่ดันแบ็คทั้งสองข้างขึ้นไปสูงในแดนบน แต่จะหุบเอา ลาห์ม กับ อลาบา มายืนในตำแหน่งมิดฟิลด์แทน ซึ่งจะดัน โครส ขึ้นไปสูงเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระที่บางครั้งสอดขึ้นไปในกรอบเขตโทษเลยทีเดียว ส่วนปีกทั้งสองข้างนั้นก็ดันสูงอยู่แล้วเพราะเป็นแนวรุกตำแหน่งที่อันตรายที่สุดของ เสือใต้ยุคนั้นทั้ง ร็อบเบน และ ริเบรี่ แตกต่างจาก บาร์ซ่า ที่เน้นการเคลื่อนที่ไปรับบอลแบบอิสระ แล้วเจาะตรงกลาง ปีกของบาเยิร์นทั้งสองฝั่งจะรอจังหวะรับบอลเพื่อเลี้ยงบอลดวลแบบหนึ่งต่อหนึ่ง เพราะผู้เล่นแนวรับริมเส้นจะระแวง ลาห์ม กับ อลาบา แล้วหุบเข้าไปประกบจนปล่อยให้คู่หู ร็อบเบอรี่ นั้นว่างรับบอลไปดวลเดี่ยว…หัวใจที่สำคัญอีกตำแหน่ง คือ ชไวน์สไตเกอร์ ที่จะไม่ดันขึ้นสูงคอยเป็นตัวฟรีวิ่งเชื่อมบอลตรงกลางรวมทถึงทางฝั่งซ้ายของสนาม ทำให้ผู้เล่นฝั่งตรงข้ามลังเลว่าจะประกบใครดีระหว่างเขา, อลาบา หรือ ริเบรี่ เช่นเดียวกันหากเป็นทางฝั่งขวากองหลังก็ต้องเลือกประกบระหว่าง โครส ที่คอยวิ่งสอด, ลาห์ม หรือ ร็อบเบน ที่คอยหาจังหวะโจมตี ช่วยเปิดพื้นที่ให้กองหลังดันขึ้นมาประกบจนหลุดตำแหน่ง…ส่วนหน้าที่ของ มาร์ติเนซ คอยคุมจังหวะช้า-เร็วเหมือนเดิม พร้อมกับดักบอลก่อนถึงกองหลังที่ทิ้ง ดันเต้ กับ บัวเต็ง ไว้ห้อยท้าย

ทางเลือกในการทำประตู

ทางเลือกแรก ร็อบเบน หรือ ริเบรี่ จะอาศัยจังหวะเลี้ยงทะลุแนวรับในการดวลเอาชนะเข้าไปทำประตู หรือ ไม่ก็จ่ายให้ มุลเลอร์ เข้าชาร์จตรงกลาง กับ จ่ายไปเสาสองให้ปีกฝั่งตรงข้ามขึ้นมาจบสกอร์ เห็นได้จากสถิติในฤดูกาลแรกที่ เป๊ป เข้ามาคุมทีม ร็อบเบน ทำไปถึง 21 ประตู กับ 17 แอสซิสต์ ส่วนทาง ริเบรี่ ก็ไม่น้อยหน้าด้วยการทำไป 16 ประตู กับ 15 แอสซิสต์เลยทีเดียว…แถวสองก็มี ชไวน์สไตเกอร์, มาร์ติเนซ และ โครส รอยิงไกลจากแถวสอง

ทางเลือกที่สอง คือ ให้ปีกฝั่งใดฝั่งหนึ่งเลี้ยงไปจนสุดเส้นหลัง แล้วทำการเปิดบอลจากด้านข้างเข้ามาโดยจะมีสามทางเลือก คือ มุลเลอร์ ที่จะขยับเข้าหาตำแหน่งในการจบสกอร์ที่เสาแรก หรือตรงกลางในเขตโทษ, โครส ที่สอดเข้ามาในเขตโทษ เป็นทางเลือกที่เสาสอง และ ปีกที่รออยู่ตรงมุมกรอบ 16 หลา จากในรูปจะเป็น ร็อบเบน ที่รอใช้จังหวะเลี้ยงตัดเข้ากลางแล้วยิงด้วยซ้ายข้างถนัดที่เป็นท่าไม้ตายที่เราเห็นกันบ่อยๆ…นอกจากนั้น ชไวน์สไตเกอร์ ก็รอเก็บจังหวะสองอยู่ตลอด

การโจมตีแบบฉวยโอกาส

การฉวยจังหวะบุกแบบเร็วของ บาเยิร์น มิวนิค จะให้ มุลเลอร์ ถอยลงมาต่ำ เพื่อล่อให้ตัวประกบระแวงวิ่งตามมาคอยคุมแบบติดตัว ทำให้เกิดพื้นที่ว่างตรงกลางในกรอบเขตโทษ ซึ่งถ้าจังหวะนี้ฝากบอลไปที่ ชไวน์สไตเกอร์ ทำให้ฝั่งตรงข้ามระแวงว่าจะประกอบใครในแนวรุกที่มี ริเบรี่, ร็อบเบน และ มุลเลอร์ ที่ถอยลงมาเพื่อเป็นตัวหลอก…ในจังหวะถัดมาทำให้ ชไวน์สไตเกอร์ สามารถตักบอลให้ โครส ที่วิ่งสอดไปแทนตำแหน่งของ มุลเลอร์ จบสกอร์ได้แบบฉาบฉวย

เกมรับแบบการยืนคุมโซน

การยืนตำแหน่งคุมโซนในแนวรับของ เสือใต้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการคว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ในฤดูกาลนั้นเพราะเสียไปเพียงแค่ 23 ประตูเท่านั้นเอง ซึ่งตำแหน่งที่สำคัญมากๆ ในการตั้งโซนนี้ คือ ฟูลแบ็คทั้งสองข้างทั้ง อลาบา และ ลาห์ม ที่สามารถถ่างออกไปคุมปีกที่วิ่งแลบขึ้นมา หรือยืนหุบเข้ากลางมาเป็นปราการชั้นแรกก่อนถึงคู่เซนเตอร์ร่วมกับมิดฟิลด์ตัวรับได้อีกด้วย โดยคนที่เล่นฟูลแบ็คในแผนนี้ได้ต้องมีวินัยเกมรับ และความฟิตดีเอามากๆ เพราะมีพื้นที่ให้รับผิดชอบค่อนข้างเยอะ แล้วยิ่งฟุตบอลในเยอรมันเน้นการสวนกลับเร็วเกมรับแผนนี้ป้องกันการเจาะตรงกลางได้หนาแน่นสุดๆ เพราะการยืนโซนแบบนี้เหมือนมีมิดฟิลด์ถึง 5 คนคอยคุมพื้นที่แดนกลางเลยทีเดียวถือว่าเป็นงานหินของแนวรุกฝ่ายตรงข้าม ยิ่งถ้าเน้นใช้บอลโยนยาวออกปีกด้วยแล้วการวิ่งแข่งกับ ลาห์ม หรือ อลาบา ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสักเท่าไหร่นักเพราะทั้งคู่ต่างมีฝีเท้าจัดจ้านพอตัว แถมทางตัวซ้อนอย่าง ดันเต้ กับ บัวเต็ง ก็เป็นกองหลังที่มีความคล่องตัวสูง และรูปร่างที่สูงใหญ่ เรียกได้ว่าพร้อมวัดได้ทั้งเรื่องสปีด และการดวลลูกกลางอากาศ

เพื่ออรรถรสที่ต่อเนื่องคลิกอ่านตอนจบได้เลยครับ : ความแตกต่างแทคติกส์ “เป๊ป” หลังคุมสามยักษ์ใหญ่…ตอนที่ 3 “แมนเชสเตอร์ ซิตี้”


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : Youtube ช่อง Football Made Simple

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้